ฟอร์มใบกำกับภาษีสำเร็จรูป ถูกต้องตามข้อกำหนดสรรพากรหรือไม่

ที่มา : ข้อหารือภาษีอากร กรมสรรพากร http://www.rd.go.th/publish/41444.0.html

เรื่องที่เกี่ยวข้อง (คลิกเพื่ออ่าน)เรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องรู้ เกี่ยวกับใบกำกับภาษี (ฟอร์มสำเร็จรูปกระดาษต่อเนื่อง)

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./4256
วันที่: 1 มิถุนายน 2552
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ได้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระบบบัญชีให้ธุรกิจทั่วไปนำไปใช้งานและบริษัทฯ ได้จัดทำแบบฟอร์มใบกำกับภาษีสำเร็จรูป ซึ่งเป็นเอกสารออกเป็นชุด โดยพิมพ์จากโรงพิมพ์และแบบฟอร์มใบกำกับภาษี 1 ชุด ประกอบ ด้วยเอกสารดังนี้
1. เอกสารใบที่ 1 พิมพ์คำว่า ใบเสร็จรับเงิน อยู่ตรงกลางปรากฏในที่เด่นชัด ที่มุมขวาบน พิมพ์คำว่า ต้นฉบับ เอกสารออกเป็นชุด และไม่ใช่ใบกำกับภาษี
2. เอกสารใบที่ 2 พิมพ์คำว่า ใบกำกับภาษี อยู่ตรงกลางปรากฏในที่เด่นชัด ที่มุมขวาบน พิมพ์คำว่า ต้นฉบับ และเอกสารออกเป็นชุด
3. เอกสารใบที่ 3 พิมพ์คำว่า สำเนาใบกำกับภาษี/ใบส่งสินค้า ที่มุมขวาบนพิมพ์คำว่า เอกสารออกเป็นชุด และ ไม่ใช่ใบกำกับภาษี
4. เอกสารใบที่ 4 พิมพ์คำว่า สำเนาใบกำกับภาษี/สำเนาใบส่งสินค้า ที่มุมขวาบนพิมพ์คำว่า เอกสารออกเป็นชุด และไม่ใช่ใบกำกับภาษี
5. เอกสารใบที่ 5 พิมพ์คำว่า สำเนาใบเสร็จรับเงิน ที่มุมขวาบนพิมพ์คำว่า เอกสารออกเป็นชุด และไม่ใช่ใบกำกับภาษี สำหรับข้อความรายการอื่นๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะจัดพิมพ์ด้วยระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์
บริษัทฯ ขอทราบว่า แบบฟอร์มใบกำกับภาษีสำเร็จรูปดังกล่าว ถือเป็นใบกำกับภาษีที่จัดทำด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ ถูกต้องหรือไม่ และผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ซื้อสินค้าและได้รับใบกำกับภาษีดังกล่าว มีสิทธินำภาษีซื้อมาเครดิตหรือขอคืนภาษีได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีที่บริษัทฯ จัดพิมพ์แบบฟอร์มใบกำกับภาษี ซึ่งเป็นเอกสารออกเป็นชุดโดยปรากฏข้อความตาม 1. ถึง 5. และข้อความรายการอื่นๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จัดทำด้วยระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ถือเป็นใบกำกับภาษี ที่ถูกต้องตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39) เรื่อง กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับใบกำกับภาษีดังกล่าว มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีนั้นมาเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือขอคืนภาษีได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 แต่อย่างใด
เลขตู้: 72/36640

อ้างอิง : คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ข้อ (8) http://www.rd.go.th/publish/3568.0.html

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 86/2542

เรื่อง      หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป

———————————————

เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

                ข้อ 1  ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4และหรือมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เว้นแต่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าชนิดและประเภทเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้ารายหนึ่งรายใดเป็นจำนวนหลายครั้งในหนึ่งวันทำการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวสามารถจัดทำใบกำกับภาษีรวมเพียงครั้งเดียวในหนึ่งวันทำการสำหรับผู้ซื้อสินค้ารายนั้นก็ได้

                ข้อ 2  ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งมีการกระทำดังต่อไปนี้ ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) หรือการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดยไม่จำต้องจัดทำใบกำกับภาษี

(1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าประการใดๆ โดยไม่ได้นำสินค้านั้นไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อนำสินค้าไปใช้หรือส่งมอบสินค้าให้บุคคลอื่นเพื่อใช้ ตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534

                        ตัวอย่าง บริษัท ก.จำกัด ประกอบกิจการผลิตสีทาอาคารและกิจการขายบ้านพร้อมที่ดิน บริษัทฯได้นำสีไปใช้ทาบ้านที่ขาย บริษัทฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของสีที่นำไปทาบ้านเพื่อขาย

(2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สินค้าที่นำไปใช้เป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตและสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ดังกล่าว ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อนำสินค้าไปใช้หรือส่งมอบสินค้าให้บุคคลอื่นเพื่อใช้ ตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534

                        ตัวอย่าง

(ก) บริษัท ก.จำกัด ประกอบกิจการขายรถยนต์นั่ง โอนรถยนต์นั่งที่ซื้อไว้เพื่อขายไปใช้ในการบริหารงานของกิจการโดยนำไปเป็นรถประจำตำแหน่ง บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของรถยนต์นั่งที่นำไปใช้

(ข) บริษัท ข.จำกัด ประกอบกิจการขายน้ำมันเชื้อเพลิง ได้นำน้ำมันเชื้อเพลิงไปเติมรถยนต์นั่งที่ใช้ในการบริหารงานของกิจการ บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เติมในรถยนต์นั่ง

(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1(8)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการตรวจพบตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 8 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189(พ.ศ.2534)ฯลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534

(4) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือทั้งกรณีที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ วันเลิกประกอบกิจการ ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการหรือแจ้งเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 9 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534

(5) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือทั้งกรณีที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 10(1) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534

(6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือทั้งกรณีที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ วันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 10(2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534

(7) ผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้บริการของตนเองไม่ว่าประการใดๆโดยไม่ได้นำบริการและหรือนำสินค้านั้นไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น ตามมาตรา 78/1(1)(ข) และมาตรา 78/1(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

                        ตัวอย่าง บริษัท ก.จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ได้นำเครื่องมือ เครื่องใช้ และวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ไปใช้ก่อสร้างอาคารเพื่อขาย บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของค่าบริการซึ่งรวมค่าวัสดุก่อสร้างด้วย

(8) ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำบริการและหรือนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เป็นบริการที่นำไปใช้เพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ถือเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น ตามมาตรา 78/1(1)(ข) และมาตรา 78/1(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

                        ตัวอย่าง บริษัท ก.จำกัด ประกอบกิจการขายผลิตภัณฑ์อาหารได้นำผลิตภัณฑ์อาหารไปใช้เลี้ยงรับรองให้แก่ลูกค้าซึ่งมาดูงานของบริษัทฯ บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของผลิตภัณฑ์อาหารที่นำไปเลี้ยงรับรอง

(9) ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำบริการและหรือนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เป็นบริการที่นำไปใช้กับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ถือเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น ตามมาตรา 78/1(1)(ข) และมาตรา 78/1(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

                        ตัวอย่าง บริษัท ก.จำกัด ประกอบกิจการขายรถยนต์และรับจ้างซ่อมรถยนต์ ได้ซื้อรถยนต์นั่งมาใช้ในการบริหารงานของกิจการ ถ้าบริษัทฯซ่อมรถยนต์นั่งที่ซื้อมาใช้ในกิจการ บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการซ่อมรถยนต์นั่ง

(10) ผู้ประกอบการจดทะเบียนจำหน่าย จ่าย โอนสินค้า โดยไม่มีค่าตอบแทน และไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้าตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร

                        ตัวอย่าง

(ก) บริษัท ก.จำกัด นำอาหารกระป๋องที่ผลิตหรือซื้อมาเพื่อขาย แจกให้แก่พนักงาน เพื่อนำไปบริโภคที่บ้านนอกเวลาปฏิบัติงาน บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของอาหารกระป๋องที่นำไปแจก

(ข) บริษัท ข.จำกัด ประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนยานพาหนะ บริษัทฯมีข้อบังคับและประกาศจ่ายรางวัลสำหรับพนักงานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานติดต่อกันโดยไม่หยุดงาน เช่น ทำงานมา 5 ปี ได้ทองคำหนัก 2 บาท ทำงานมา 4 ปี ได้ทองคำหนัก 1 บาท บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของทองคำที่นำไปแจกเป็นรางวัล

(ค) บริษัท ค.จำกัด ประกอบกิจการผลิตและขายยางรถยนต์บริษัทฯมีเงื่อนไขเพื่อส่งเสริมการขายว่า หากลูกค้าซื้อสินค้าจากบริษัทฯครบจำนวนตามที่กำหนด บริษัทฯจะมอบรางวัล เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ให้แก่ลูกค้าทุกคน บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำไปแจกเป็นรางวัล

(11) ผู้ประกอบการจดทะเบียนให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทน และไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น ตามมาตรา 78/1(1)(ข) และมาตรา 78/1(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

                        ตัวอย่าง โรงแรมเอ.เอ็ม ให้บริการห้องพักแก่กรรมการของโรงแรม และแขกรับเชิญซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเอกชนอื่น โดยไม่คิดค่าห้องพักและค่าบริการ โรงแรมฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของค่าห้องพักและค่าบริการ

(12) ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งไม่ต้องนำค่าตอบแทนที่มีลักษณะและเงื่อนไขตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษี เนื่องจากไม่มีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

                ข้อ 3  ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังต่อไปนี้ มีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น แต่โดยผลของกฎหมายทำให้ไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรอีก

(1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้ให้ตัวแทนของตนจัดทำใบกำกับภาษีแทนตนเองตามมาตรา 86/2 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีตัวแทนได้จัดทำใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนแล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักรไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีอีก

(2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกขายทอดตลาด โดยส่วนราชการเป็นผู้ทอดตลาดตามมาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนราชการได้จัดทำใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ซื้อในการขายทอดตลาด และจัดทำสำเนาใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินเพื่อเป็นหลักฐานในการลงรายงานภาษีขาย ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีอีก

(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกขายทอดตลาด โดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ส่วนราชการเป็นผู้ทอดตลาดตามมาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้ทอดตลาดจัดทำใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อในการขายทอดตลาด ตามมาตรา 86/3 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีอีก

                 ข้อ 4  ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี โดยส่งมอบต้นฉบับใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีเพื่อการลงรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่ง ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษี

ชื่อตามวรรคหนึ่ง หมายถึง ชื่อผู้ประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือชื่อสถานประกอบการ หรือชื่อการค้าของสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ที่อยู่ตามวรรคหนึ่ง หมายถึง ที่ตั้งของสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีระบุที่อยู่ไม่ครบถ้วนตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่รายการที่อยู่ที่ระบุไว้ถูกต้อง และสามารถบอกตำแหน่งที่ตั้งที่ชัดเจนได้ ให้ถือว่าได้ระบุที่อยู่ครบถ้วนแล้ว

(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

ชื่อตามวรรคหนึ่ง หมายถึง ชื่อผู้ประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือชื่อสถานประกอบการ หรือชื่อการค้าของสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบุคคลธรรมดา หมายความรวมถึงนามสกุลด้วย

กรณีระบุชื่อของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามวรรคหนึ่งไม่ครบถ้วนโดยมีเครื่องหมายไปยาลน้อย (ฯ) ละคำที่ประกอบคำหน้า แต่เป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนโดยไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกอบการรายอื่น เช่น “องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย” เขียนว่า “องค์การโทรศัพท์ฯ” หรือ “บริษัท ไปศาจีกรุงเทพมหานครจำกัด” เขียนว่า “บริษัท ไปศาจีกรุงเทพฯ จำกัด” ให้ถือว่าได้ระบุชื่อครบถ้วนแล้ว

กรณีระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามวรรคหนึ่ง โดยตัวสะกด สระ วรรณยุกต์ การันต์ ผิดพลาด แต่เป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนโดยไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกอบการรายอื่น ให้ถือว่าได้ระบุชื่อครบถ้วนแล้ว

ที่อยู่ตามวรรคหนึ่ง หมายถึง ที่ตั้งของสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีระบุที่อยู่ไม่ครบถ้วนตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่รายการที่อยู่ที่ระบุไว้ถูกต้อง และสามารถบอกตำแหน่งที่ตั้งที่ชัดเจนได้ ให้ถือว่าได้ระบุที่อยู่ครบถ้วนแล้ว

(4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่มถ้ามี

(5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

ชื่อ ชนิด ประเภท ของสินค้าหรือของบริการตามวรรคหนึ่ง ให้ระบุเฉพาะชื่อ ชนิด ประเภท ของสินค้าหรือของบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษี เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องระบุชื่อ ชนิด ประเภท ของสินค้าหรือของบริการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษีด้วย ให้กระทำได้ โดยต้องจัดให้มีเครื่องหมายหรือแยกรายการแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นสินค้าหรือบริการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

(6) มูลค่าของสินค้าหรือของบริการที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

กรณีจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการตามวรรคหนึ่ง มีเศษเป็นจุดทศนิยม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนถือปฏิบัติดังนี้

(ก) ถ้าเศษของภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นจำนวนเงินตัวที่สามหลังจุดทศนิยม มีค่าไม่ถึง 5 ให้ปัดเศษนั้นทิ้ง ตัวอย่าง มูลค่าของสินค้าที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว คือ 100 บาท คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้เท่ากับ 7/107 x 100 = 6.542 บาท ดังนั้น จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่แสดงในใบกำกับภาษี คือ 6.54 บาท

(ข) ถ้าเศษของภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นจำนวนเงินตัวที่สามหลังจุดทศนิยม มีค่าตั้งแต่ 5 ขึ้นไป ให้ปัดเศษขึ้น ตัวอย่าง มูลค่าของสินค้าที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว คือ 180 บาท คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้เท่ากับ 7/107 x 180 = 11.775 บาท ดังนั้น จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่แสดงในใบกำกับภาษี คือ11.78 บาท

กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนมากกว่าหรือมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย อันเนื่องมาจากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีเศษเป็นจุดทศนิยม ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องเสียภาษีตามจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย

(7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี วัน เดือน ปี ตามวรรคหนึ่ง ใช้ตัวเลขแทนการระบุชื่อเดือนก็ได้และใช้พุทธศักราชหรือคริสต์ศักราชก็ได้

                ข้อ 5  กรณีตัวแทนเป็นผู้จัดทำใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ และมาตรา 86/2 แห่งประมวลรัษฎากร หรือผู้ทอดตลาดที่ไม่ใช่ส่วนราชการซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องจัดทำใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินตามมาตรา 86/3 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ตัวแทนและผู้ทอดตลาดใช้แบบพิมพ์ใบกำกับภาษีของตัวแทนหรือผู้ทอดตลาด โดยใบกำกับภาษีต้องมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องระบุชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวการ หรือผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินด้วย

                ข้อ 6  ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 4 สามารถจัดทำใบกำกับภาษีรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ หรือใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับอยู่ในชุดเดียวกัน

การจัดทำใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่ง ถ้าใบกำกับภาษีไม่ใช่เอกสารฉบับแรกของเอกสารดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ในใบกำกับภาษี

                ข้อ 7  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 มีความผิด ต้องระวางโทษตามมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร

                ข้อ 8  รายการในใบกำกับภาษีตามข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 จะจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ แต่ต้องจัดทำเป็นหน่วยเงินตราไทย โดยใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค กรณีมีความจำเป็นต้องจัดทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นนอกจากภาษาอังกฤษ และหรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

รายการชื่อตามข้อ 4(2) และข้อ 4(3) กรณีเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัท (มหาชน) จำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถใช้คำย่อแทนได้ ดังนี้

(1) บริษัทจำกัด ใช้คำย่อว่า บ. … จก. หรือ ใช้คำย่อว่า บจ. …

(2) บริษัท (มหาชน) จำกัด ใช้คำย่อว่า บมจ. …

(3) ห้างหุ้นส่วนจำกัด ใช้คำย่อว่า หจก. …

(4) ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ใช้คำย่อว่า หสน. …

ถ้ารายการในใบกำกับภาษีตามข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 ดังต่อไปนี้ ได้จัดทำขึ้นโดยตีพิมพ์ รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบกำกับภาษีมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

                        (1) คำว่า “ใบกำกับภาษี”

                        (2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษี

                        (3) คำว่า “เอกสารออกเป็นชุด”

                ถ้ารายการในใบกำกับภาษีตาม (1) (2) และ (3) ของวรรคสามทั้งสามรายการหรือเพียงรายการหนึ่งรายการใดได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 4 จะต้องตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบกำกับภาษีจึงจะมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

                ข้อ 9  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการแก่ลูกค้ารายหนึ่งรายใดครั้งหนึ่ง ๆ จำนวนหลายรายการ และไม่สามารถระบุรายการชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการทั้งหมดในใบกำกับภาษี 1 แผ่น ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำใบกำกับภาษี 1 ฉบับ ประกอบด้วยใบกำกับภาษี 1 แผ่น และจัดให้มีใบแนบใบกำกับภาษีด้วย ซึ่งใบแนบใบกำกับภาษีอาจมีจำนวนมากกว่า 1 แผ่นก็ได้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องหมายเหตุในรายการสินค้าหรือบริการว่ามีรายละเอียดตามใบแนบใบกำกับภาษี โดยมูลค่ารวมของสินค้าหรือของบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ระบุในใบกำกับภาษี และที่ระบุในใบแนบใบกำกับภาษีต้องเป็นจำนวนเดียวกัน

ใบแนบใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่ง ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(ก) คำว่า “ใบแนบใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(ข) เลขที่ เล่มที่ (ถ้ามี) ของใบกำกับภาษี

(ค) วัน เดือน ปี ของใบกำกับภาษี

(ง) รายละเอียดชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

(จ) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

(ฉ) กรณีมีใบแนบใบกำกับภาษีมากกว่า 1 แผ่น จะต้องระบุคำว่า “แผ่นที่ …” ไว้ด้วย และรายการมูลค่ารวมของสินค้าหรือของบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการทั้งหมด ตามมาตรา 86/4(6) แห่งประมวลรัษฎากร จะปรากฏในใบแนบใบกำกับภาษีแผ่นสุดท้ายเท่านั้น

การจัดทำใบแนบใบกำกับภาษีตามวรรคสอง สามารถจัดทำขึ้นโดยตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีความประสงค์ใช้ใบส่งของหรือใบแจ้งหนี้ เป็นใบแนบใบกำกับภาษี ให้กระทำได้ แต่ต้องมีรายการอย่างน้อยตามวรรคสอง

(2) จัดทำใบกำกับภาษี 1 ฉบับ ประกอบด้วยใบกำกับภาษีมากกว่า1 แผ่น โดยแต่ละแผ่นต้องมีรายการถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 86/4 (1) – (5) และ (7) แห่งประมวลรัษฎากร และใบกำกับภาษีที่ไม่ใช่แผ่นสุดท้ายจะต้องมีข้อความที่แสดงว่ามีใบกำกับภาษีแผ่นต่อไปไว้ด้วย ซึ่งข้อความดังกล่าวจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้สำหรับรายการมูลค่ารวมของสินค้าหรือของบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการทั้งหมดตามมาตรา 86/4(6) แห่งประมวลรัษฎากร จะปรากฏในใบกำกับภาษีแผ่นสุดท้ายเท่านั้น

การจัดทำใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่ง ถ้าได้ตีพิมพ์เลขที่ไว้แล้วใบกำกับภาษีแต่ละแผ่นจะเรียงลำดับเลขที่ แต่ถ้าไม่ได้ตีพิมพ์เลขที่ไว้ ใบกำกับภาษีแต่ละแผ่นอาจจะเรียงลำดับเลขที่หรือปรากฏเลขที่เพียงเลขที่เดียวก็ได้ กรณีใบกำกับภาษีแต่ละแผ่นมีเพียงเลขที่เดียว ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุคำว่า “แผ่นที่ …” ไว้ด้วย

                ข้อ 10  ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้รับใบกำกับภาษี โดยภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนมากกว่าหรือมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย อันเนื่องมาจากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีเศษเป็นจุดทศนิยม ให้ถือปฏิบัติดังนี้

(ก) ถ้าภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนมากกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

(ข) ถ้าภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษี โดยภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนมากกว่าหรือมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ซึ่งไม่ใช่การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีเศษเป็นจุดทศนิยม ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อ จะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จึงจะนำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

                ข้อ 11   กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้แจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อหรือที่อยู่ต่อหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายและหน่วยงานที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/6 แห่งแห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามชื่อหรือที่อยู่ที่เปลี่ยนแปลงแล้ว

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ได้รับใบกำกับภาษีในชื่อเดิมหรือที่อยู่เดิม ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อ จะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จึงจะนำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

                ข้อ 12  กรณีราชการเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้าน ชื่อถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัด หรือได้ทำการแบ่งเขตถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัดใหม่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถแก้ไขที่อยู่ในแบบพิมพ์ใบกำกับภาษีให้ถูกต้องตามที่ทางราชการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ ให้กระทำได้ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ทางราชการประกาศเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้าน ชื่อถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัด หรือได้ทำการแบ่งเขตถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัดใหม่ แล้วแต่กรณี

การแก้ไขที่อยู่ตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถขีดฆ่าที่อยู่เดิมและระบุที่อยู่ใหม่ที่ถูกต้อง พร้อมกับลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไข หรือประทับตรายางที่อยู่ที่ถูกต้องเพิ่มเติม ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบกำกับภาษีดังกล่าวมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

กรณีราชการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น ตามมาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฎากร

                ข้อ 13  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งมีการแถมสินค้าพร้อมการขายหรือการให้บริการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยระบุชนิด ประเภท และปริมาณสินค้าที่แถมไว้ในใบกำกับภาษีฉบับเดียวกันกับสินค้าที่ขายด้วย แต่ไม่ต้องนำมูลค่าสินค้าที่แถมมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี

การแถมสินค้าตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบการจดทะเบียนอาจจะไม่ได้ส่งมอบสินค้าที่แถมให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการพร้อมกับการส่งมอบสินค้าหรือให้บริการก็ได้ต่อมาเมื่อมีการส่งมอบสินค้าที่แถมก็ไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการอีก

                ข้อ 14  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งมีการให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อน ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษี ดังนี้

(1) กรณีให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนในขณะขายสินค้าหรือให้บริการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยระบุส่วนลดหรือค่าลดหย่อนไว้ให้เห็นชัดแจ้งในใบกำกับภาษี และคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการหลังจากหักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนแล้ว

                        ตัวอย่าง

(ก) บริษัท ก.จำกัด ขายรถยนต์กระบะมูลค่า 350,000 บาทได้ให้ส่วนลดแก่ผู้ที่ซื้อระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2542 จำนวน 5,000 บาท บริษัทฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่ารถยนต์กระบะ 350,000 บาท หักด้วยส่วนลด 5,000 บาท คงเหลือมูลค่ารถยนต์กระบะ 345,000 บาท

(ข) นายอำนาจซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้ามูลค่า 5,000 บาทห้างฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของสินค้า 5,000 บาท ห้างฯได้แจกคูปองมูลค่า 250 บาท เพื่อใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าครั้งต่อไปโดยไม่จำกัดประเภทสินค้า ถ้าสินค้าชิ้นใหม่มูลค่า 1,000 บาท ห้างฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของสินค้า 1,000 บาท หักด้วยมูลค่าส่วนลดตามคูปอง 250 บาท คงเหลือมูลค่าของสินค้า 750 บาท

(ค) ห้างสรรพสินค้าขายสินค้าโดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าซื้อสินค้ามูลค่า 100 บาท จะได้รับแสตมป์ 1 ดวง ถ้าสะสมแสตมป์ภายในเวลาที่กำหนด ผู้ซื้อมีสิทธินำแสตมป์ดังกล่าวใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าตามประเภทที่กำหนดได้ เช่น แสตมป์ 50 ดวง มีสิทธิซื้อพัดลมมูลค่า 1,000 บาท โดยชำระเงิน 700 บาท กรณีดังกล่าว ห้างฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของสินค้า 1,000 บาท หักด้วยมูลค่าส่วนลดตามแสตมป์ 50 ดวง มูลค่า 300 บาท คงเหลือมูลค่าของสินค้า 700 บาท

(ง) โรงแรม เอ.เอ็ม ประกอบกิจการโรงแรมและภัตตาคารเมื่อลูกค้าใช้บริการห้องพักและอาหารมูลค่า 15,000 บาท โรงแรมฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของบริการ 15,000 บาท โรงแรมฯมอบบัตรกำนัลให้จำนวน 1,000 บาท ต่อมาลูกค้าใช้บริการภัตตาคาร 3,000 บาท ชำระเงินสด 2,000 บาท และบัตรกำนัล 1,000 บาท โรงแรมฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของบริการ 3,000 บาทหักด้วยมูลค่าตามบัตรกำนัล 1,000 บาท คงเหลือมูลค่าของบริการ 2,000 บาท

(2) กรณีให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนภายหลังจากที่ขายสินค้าไปแล้ว ซึ่งเป็นส่วนลดเงินสดหรือส่วนลดตามเป้า ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าสินค้าทั้งหมดไม่หักส่วนลดหรือค่าลดหย่อน

                        ตัวอย่าง

(ก) บริษัท ก.จำกัด ขายเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมติดตั้งมูลค่า 350,000 บาท มีเงื่อนไขการชำระค่าสินค้าว่า ถ้าชำระภายใน 2เดือน จะลดให้ 2,000 บาท บริษัทฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยคำนวณจากมูลค่า 350,000 บาท

(ข) ห้างสรรพสินค้าขายสินค้าโดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าซื้อสินค้ามูลค่า 100 บาท ผู้ซื้อจะได้รับแสตมป์ 1 ดวง ถ้าสะสมแสตมป์ภายในเวลาที่กำหนด ผู้ซื้อมีสิทธินำแสตมป์มารับของรางวัลจากห้างฯตามประเภทที่กำหนด เช่น แสตมป์ 20 ดวง มีสิทธิได้รับชามแก้วมูลค่า 400 บาท ห้างฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยคำนวณจากมูลค่า 400 บาท

อย่างไรก็ดี ถ้าการให้ส่วนลดตามเป้ามีเงื่อนไขว่า จะแจกสินค้าเป็นรางวัลให้แก่ผู้ซื้อสินค้า เฉพาะกรณีซื้อสินค้าในแต่ละวันโดยมีมูลค่ารวมกันตามที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนกำหนด ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของสินค้าที่แจกเป็นรางวัล ทั้งนี้ ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ตัวอย่าง ถ้าซื้อสินค้ามูลค่า 2,000 บาท ในแต่ละวัน ผู้ซื้อมีสิทธิได้รับตะกร้า 1 ใบ ห้างฯไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของตะกร้าดังกล่าว

                ข้อ 15  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีเป็นรายสถานประกอบการ

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง มีการดำเนินงาน ณ สถานที่อื่นซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ตามมาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร ด้วย ให้จัดทำใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่หรือสถานประกอบการแห่งอื่นที่ดำเนินงาน ไม่ใช่ที่อยู่ตามสถานที่ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสอง ได้รับใบกำกับภาษีระบุชื่อของผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกต้อง แต่ระบุที่อยู่ตามสถานที่ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ หรือเป็นภาษีซื้อของสถานประกอบการแห่งอื่นซึ่งจ่ายค่าสินค้าหรือค่าบริการ

                ตัวอย่าง

(1) บริษัท ก.จำกัด มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เขตพญาไท ประกอบกิจการให้เช่าอาคารสำนักงานซึ่งตั้งอยู่เขตบางพลัด บริษัทฯไม่ได้ใช้พื้นที่ของอาคารที่ให้เช่าเป็นสถานประกอบการ แต่บริษัทฯให้บริการสาธารณูปโภคแก่ผู้เช่า บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ณ อาคารที่ให้เช่า รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ตามอาคารที่ให้เช่า บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ได้ เมื่อบริษัทฯเรียกเก็บค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้เช่า บริษัทฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่

(2) บริษัท ข.จำกัด ประกอบกิจการผลิตปลากระป๋อง มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เขตบางซื่อ มีสำนักงานอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง บริษัทฯก่อสร้างโรงงานที่จังหวัดระยอง โดยมอบหมายให้สำนักงานที่จังหวัดระยองดำเนินงานด้านการก่อสร้างและจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการก่อสร้าง บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา ณ สถานที่ก่อสร้าง รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ ณ สถานที่ก่อสร้าง บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานที่จังหวัดระยองได้

(3) บริษัท ก.จำกัด เช่าสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาสินค้าซึ่งต้องมีกระแสไฟฟ้าส่องป้าย บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ณ สถานที่เช่า รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ตามสถานที่เช่า บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ได้

                ข้อ 16  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 15 ได้แจ้งปิดสถานประกอบ-การบางแห่งตามมาตรา 85/7 แห่งประมวลรัษฎากร ให้จัดทำใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่หรือสถานประกอบการแห่งอื่นที่ดำเนินงาน ไม่ใช่ที่อยู่ตามสถานประกอบการที่แจ้งปิดแล้ว

หากภายหลังการแจ้งปิดสถานประกอบการตามวรรคหนึ่ง ได้เกิดเหตุการณ์ที่ต้องจัดทำใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 82/9 หรือใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ของสถานประกอบการแห่งนั้น ให้จัดทำใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 หรือใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุที่อยู่ของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่หรือสถานประกอบการแห่งอื่นที่ดำเนินงาน

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้รับใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่งหรือใบเพิ่มหนี้ตามวรรคสอง มีสิทธินำใบกำกับภาษีและใบเพิ่มหนี้ไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และกรณีได้รับใบลดหนี้ตามวรรคสอง มีสิทธินำใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

                ข้อ 17  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 16 ยังคงได้รับใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่แจ้งปิดไปแล้ว ให้ดำเนินการดังนี้

(1) กรณีใบกำกับภาษีสำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการแจ้งปิดสถานประกอบการตามมาตรา 85/7 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่หรือสถานประกอบการแห่งอื่นที่ดำเนินงาน

(2) กรณีใบกำกับภาษีสำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการแจ้งปิดสถานประกอบการตามมาตรา 85/7 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบ-การจดทะเบียนไม่มีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

                ข้อ 18  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีเป็นรายสถานประกอบการ และสถานประกอบการที่ไม่ใช่สำนักงานใหญ่ได้นำใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ของสำนักงานใหญ่ไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น สถานประกอบการที่ไม่ใช่สำนักงานใหญ่ต้องระบุข้อความว่า “สาขาที่ออกใบกำกับภาษีคือ …” ไว้ในใบกำกับภาษีด้วย โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

ข้อความว่า “สาขาที่ออกใบกำกับภาษีคือ …” ตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถระบุชื่อของสถานที่ก็ได้ เช่น สาขาลาดพร้าว สาขาลพบุรี

                ตัวอย่าง

(1) ระบุว่า “สาขาที่ออกใบกำกับภาษี คือ สาขาลาดพร้าว” หรือ “สาขาที่ออกใบกำกับภาษี คือ สาขาที่ 1” หรือ “ สาขาที่ออกใบกำกับภาษี คือ สาขาถนนพระราม 4” หรือ

(2) ระบุว่า “สาขาลาดพร้าว” หรือ “สาขาที่ 1” หรือ “สาขาถนนพระราม 4”

                ข้อ 19  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการ และจัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ แต่สถานประกอบการแห่งอื่นเป็นผู้สั่งพิมพ์ใบกำกับภาษี และส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการถือว่าสำนักงานใหญ่เป็นผู้จัดทำใบกำกับภาษี ไม่ใช่การจัดทำใบกำกับภาษีตามข้อ 18 จึงไม่ต้องระบุข้อความว่า “สาขาที่ออกใบกำกับภาษีคือ …” ไว้ในใบกำกับภาษี

                ข้อ 20  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้นำเข้า ตามมาตรา 77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ยื่นกระทำพิธีการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร ใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร ถือเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 77/1(22) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้ารายการในใบเสร็จรับเงินดังกล่าวผิดพลาดคลาดเคลื่อน และกรมศุลกากรได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินตามวรรคหนึ่งมีจำนวนมากกว่าหรือมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเนื่องมาจากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีเศษเป็นจุดทศนิยมหรือไม่ก็ตาม ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

กรณีใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรระบุชื่อของผู้ประกอบการจดทะเบียน และชื่อของผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศด้วย ถ้ามีหลักฐานแสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ว่าจ้างผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศให้จัดส่งสินค้าไปต่างประเทศ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำใบเสร็จรับเงินไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

                ข้อ 21  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร โดยมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสีย ตามมาตรา 83/6(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร ถือเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 77/1(22) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้ารายการในใบเสร็จรับเงินดังกล่าวผิดพลาดคลาดเคลื่อน และกรมสรรพากรได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

                ข้อ 22   ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาโดยส่งมอบต้นฉบับใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีเพื่อการลงรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่ง ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ใบกำกับภาษีของการขายสินค้าโดยการส่งออกตามมาตรา 86/5(1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้มีรายการเช่นเดียวกันกับใบกำกับสินค้าซึ่งผู้ส่งออกได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

(2) ใบกำกับภาษีของการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้มีรายการเช่นเดียวกันกับใบแจ้งหนี้หรืออินวอยซ์ซึ่งผู้ให้บริการได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

(3) ใบกำกับภาษีของการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ตามมาตรา 86/5(1) ให้มีรายการเช่นเดียวกับแอร์เวย์บิลหรือเฮ้าส์แอร์เวย์บิลที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนรับขนส่งได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

(4) ใบกำกับภาษีของการขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันตามมาตรา86/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้ระบุชื่อ ชนิด และประเภทของน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันเป็นภาษาอังกฤษได้และต้องกำหนดช่องราคาขายปลีกไว้ในใบกำกับภาษีด้วย

(5) ใบกำกับภาษีของการขายยาสูบตามประเภทและชนิดที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ตามมาตรา 86/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้ระบุชื่อ ชนิด และประเภทของยาสูบเป็นภาษาอังกฤษได้ และต้องกำหนดช่องราคาขายปลีกหักด้วยจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งคำนวณตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีกไว้ในใบกำกับภาษีด้วย

                ข้อ 23  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อ 22 ต้องระวางโทษตามมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร

                ข้อ 24  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 22 ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จึงจะมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

กรณีเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามวรรคหนึ่งไปถือเป็นภาษีซื้อแล้ว ถ้าเจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่ามีเหตุอันสมควรให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิม และนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมาให้ตรวจสอบภายในระยะเวลาที่กำหนด และผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมามอบให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสอง ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมาให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้าต่อมาผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องก็ยังคงมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม ตามมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อขอคืนภาษีเป็นเงินสด แต่ต้องไม่เกินสามปีนับจากวันที่ได้มีการจัดทำใบกำกับภาษี

กำหนดระยะเวลาตามวรรคสองต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบการกระทำความผิด

                ข้อ 25  ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 22 เมื่อได้รับการร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมและนำมาประทับตราว่า“ยกเลิก” หรือขีดฆ่า แล้วเก็บรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม

(2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลง วัน เดือน ปี ให้ตรงกับ วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ

(3) หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า “เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่ … เล่มที่ …” และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย

ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จะต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ขอยกเลิกติดเรื่องไว้ด้วย

                ข้อ 26  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 25 จัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีระบบซอฟต์แวร์ในระบบงานจัดทำใบกำกับภาษีบันทึกเข้าระบบบัญชีแยกประเภทโดยอัตโนมัติ ถ้าระบบซอฟต์แวร์ดังกล่าวไม่สามารถระบุวัน เดือน ปี ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยดำเนินการตามข้อ 8 วรรคสามและวรรคสี่ ดังนี้

(1) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่โดยรายการดังต่อไปนี้ ได้จัดทำขึ้นโดยตีพิมพ์ ซึ่งทำให้รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

(ก) คำว่า “ใบกำกับภาษี”

(ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษี

(ค) คำว่า “เอกสารออกเป็นชุด”

(2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่โดยรายการตาม (1)(ก)(ข) และ(ค) ทั้งสามรายการหรือเพียงรายการหนึ่งรายการใดได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น

                ข้อ 27  บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือหรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก

สั่ง ณ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542

จักรี รัตยันตรกร

รองอธิบดี รักษาราชการแทน

อธิบดีกรมสรรพากร